การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอลของประเทศในแถบแอฟริกาตอนใต้
การเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาลอกสู่ระบบทีวีดิจิตอลของประเทศในแถบแอฟริกาตอนใต้
ในช่วงที่ผ่านมาแน่นอนว่าการออกอากาศทีวีในระบบภาคพื้นดินของประเทศในแอฟริกานั้นเป็นระบบอนาลอก และกำลังค่อยๆปรับเปลี่่ยนเป็นระบบดีจิติอลกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะการออกอากาศด้วยระบบดิจิตอลนั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่า คุณภาพของภาพที่ดีกว่าเสียงก็คมชัดกว่า พร้อมฟังก์ชั่นเสริมต่างๆ และประเด็นสุดท้ายคือความสามารถในการเพิ่มเนื้อหาหรือช่องต่างๆได้มากขึ้น เปิดตัวเลือกให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น อันเป็นการส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอีกทางหนึ่ง
กระบวนการในการเปลี่ยนผ่าน
การเปลี่ยนผ่านนั้นปกติแล้วจะเป็นกระบวนการที่ดำเนินการเป็นระยะๆ โดยหลังจากมีการออกอากาศทีวีดิจิตอลไปแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การออกอากาศทั้งสองระบบก็จะดำเนินการไปพร้อมๆกัน ช่วงเวลานี้ก็เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า การออกอากาศแบบคู่ขนาน หลังจากประชากรส่วนใหญ่สามารถรับชมทีวีดิจิตอลกันได้แล้ว ระบบอนาลอกก็จะถูกปิดลง และทีวีระบบดิจิตอลเท่านั้นที่จะดำเนินต่อไป
การเปลี่ยนผ่านแบบนี้ถือว่าให้ประโยชน์สูงสุดกับหลายๆประเทศ เนื่องจากจะมีจำนวนช่องทีวีที่เพิ่มมากขึ้น และเมื่อปิดระบบอนาลอกแล้ว คลื่นความถี่ที่เคยใช้กับระบบอนาลอกก็จะถูกนำมาใช้ได้อีก เช่นอาจจะทำให้มีช่องทีวีเพิ่มมากขึ้นอีก หรือนำไปใช้ในระบบสื่อสารความเร็วสูงอย่าง 4G เป็นต้น
การดำเนินการของประเทศในแถบแอฟริกาใต้
ประเทศในแถบแอฟริกาใต้นั้นต่างก็ได้ทุ่มเทในการที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอลภายในเดือนมิถุนายนปี 2015 (2558) ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในกำหนด ประเทศนั้นๆก็จะเสียสิทธิเกี่ยวกับการป้องกันการรบกวนของคลื่นวิทยุจากประเทศเพื่อนบ้าน
จากประสบการณ์ของนานาประเทศพบว่าตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอลนั้นมี 2 ตัวแปรด้วยกันคือ
– ราคากล่อง set top box ต้องไม่สูงเกินไป
– การรับรู้ของผู้บริโภค
ในส่วนของการรับชมทีวีดิจิตอลนั้นแน่นอนว่าเครื่องทีวีรุ่นเก่าจะต้องจัดหากล่อง set top box มาเพื่อแปลงสัญญาณที่ออกอากาศในระบบดิจิตอลแล้วส่งสัญญาณให้กับทีวีที่เป็นระบบอนาลอก ซึ่งไม่มีดิจิตอลจูนเนอร์ในตัว กล่อง set top box นี้จะมีความแตกต่างจากกล่องในระบบ Pay TV ซึ่งเป็นกล่องที่นอกจากแปลงสัญญาณให้ทีวีสามารถรับชมได้แล้ว ยังมีการตรวจสอบด้วยว่าผู้ชมรายนั้นๆมีสิทธิรับชมช่องรายการใดได้บ้างอีกด้วย
แต่ในส่วนการรับชมทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอลแบบ Free-to-air นั้นในตัวกล่องก็จะมีเพียงดิจิตอลจูนเนอร์ส่งสัญญาณต่อไปให้ทีวี แทนที่จะต้องซื้อหาทีวีที่มีดิจิตอลจูนเนอร์ในตัว
ราคาของกล่อง set top box
ประเด็นสำคัญอันนึงที่บ่งบอกถึงความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีระบบดิจิตอลในยุโรปคือ ราคากล่องที่ไม่แพงและหาซื้อได้ง่าย
ในการที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านนั้นประสบความสำเร็จ กล่อง set top box จะต้องไม่มีราคาสูงมาก หาซื้อได้ง่าย สเป็กก็ไม่จำเป็นต้องหวือหวาเกินไป กล่อง set top box ไม่ควรมีฟังก์ชั่นที่เกินความจำเป็นที่จะทำให้ราคานั้นสูงขึ้น ตัวอย่างอันหนึ่งก็คือการสามารถเชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งถือว่าไม่จำเป็น โดยในบางประเทศอย่าง Namibia นั้นกำลังมีการเสนอให้มีฟังก์ชั่นนี้กัน
ผลจากการวิจัยพบว่า ความต้องการของผู้บริโภคนั้นแทบไม่มีเลยสำหรับการทำ interactive หรือการเชื่อมโยงสู่อินเตอร์เน็ตผ่านเครื่องดูโทรทัศน์ โดยผลการวิจัยพบว่าทีวีนั้นเป็นอุปกรณ์ในลักษณะการใช้งานแบบเอนหลังใช้ ไม่เหมือนคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่เป็นลักษณะต้องก้มหน้าใช้ ผู้บริโภคมักจะใช้คอมพิวเตอร์หรือมือถือเล่นเน็ตมากกว่า ดังนั้นแล้วการที่จะใส่การเชื่อมโยงระบบอินเตอร์เน็ตลงในกล่อง set top box จึงไม่มีความจำเป็นเลย และจะทำให้ราคาสูงขึ้นโดยไม่มีประโยชน์อะไรเพิ่มเติม
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีก็คือระบบควบคุมกล่องไม่ให้เอาไปใช้นอกประเทศของตัวเอง ซึ่งก็มองว่าไม่จำเป็นเพราะการส่งสัญญาณภาคพื้นดินนั้นไปได้แค่ระยะทางหนึ่งเท่านั้น จึงมีผลแค่บริเวณชายแดนของประเทศเท่านั้น ตัวอย่างนี้มีให้เห็นในประเทศแอฟริกาใต้ที่ทางรัฐบาลจะแจกกล่องให้ทั้งสิ้น 5 ล้านครัวเรือน และเกรงว่าเงินภาษีที่จ่ายให้กับค่ากล่องนั้นจะสูญเปล่าโดยกล่องอาจจะถูกนำไปใช้นอกประเทศ ผลคือผ่านมาแล้ว 5 ปีเรื่องนี้ก็ยังคุยกันไม่จบทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านแทบจะยังอยู่ที่เดิมสำหรับประเทศนี้
เตรียมการให้ผู้บริโภคได้รับทราบ
ดังที่ได้กล่าวข้างต้นตัวแปรที่สำคัญอีกตัวหนึ่งก็คือการรับรู้ของผู้บริโภค การปิดระบบส่งสัญญาณอนาลอกลงอย่างสิ้นเชิงนั้นยังไม่ควรเกิดขึ้นก่อนที่จำนวนประชากรมากพอได้เปลี่ยนไปดูทีวีระบบดิจิตอลแล้ว ไม่งั้นจะมีประชากรจำนวนหนึ่งไม่สามารถดูทีวีได้อีกต่อไป
การรับรู้ของผู้บริโภคนั้นสำคัญที่จะให้ความรู้แก่ประชาชนในกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่กำลังเกิดขึ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร และพวกเขาจะต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ได้กล่อง set top box มาใช้งาน (ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ หรือการซื้อหาเอาเอง) รวมถึงความสามารถในการรับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับการสื่อสารด้านการตลาดให้กับประชาชนเหล่านี้
ตัวอย่างเช่นในประเทศ Tanzania ซึ่งเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมปี 2012 (2555) ที่ถือเป็นประเทศแรกในย่านแอฟริกาตะวันออกที่เริ่มปิดระบบการส่งสัญญาณแบบอนาลอก แม้ว่าจะเป็นประเทศแรกที่เข้าสู่การเป็นทีวีดิจิตอล แต่ประเทศ Tanzania ก็ถูกระบุว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านนั้นเกิดขึ้นเร็วเกินไป หลายหน่วยงานที่ทำงานเพื่อสังคมรวมถึงช่องทีวีต่างก็ได้เรียกร้องให้มีการเปิดระบบอนาลอกกลับมาอีก เพื่อให้เวลากับประชาชนในการซื้อหากล่อง set top box อีกระยะหนึ่งไม่ใช่ต้องแห่กันไปซื้อในช่วงเวลาสั้นๆ
เมื่อเดือนมีนาคา 2013 ได้มีการแถลงข่าวออกมาว่าเมื่อปลายปี 2012 มีประชากรของ Tanzania ราว 50% ไม่สามารถดูทีวีได้เนื่องจากไม่มีกล่อง set top box โดยเอกสารดังกล่าวแสดงความเป็นห่วงในประเด็นที่ประชาชนชาว Tanzania นั้นไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่นี้ และกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นในเดือนเมษายน 2013 ทางรัฐบาลจึงมีมติที่จะชลอการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลในเฟส 2 เพื่อศึกษาผลกระทบจากการดำเนินการในเฟสแรกก่อน
บทสรุป
จากประสบการณ์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นได้บ่งบอกถึงประเด็นสำคัญในการดำเนินการแบบเป็นระยะๆ พร้อมทั้งการประชาสัมพันธ์ที่แช้มแข็งและชัดเจน เพื่อที่จะให้ความรู้แก่ประชาชนล่วงหน้าก่อนการปิดระบบอนาลอก เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอลได้อย่างราบรื่นและให้ทันตามกำหนดภายในเดือนมิถุนายน 2015 นี้
บทความโดย Wendy Rosenberg จากเว็บไซท์ http://www.polity.org.za
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.